วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Best Attitude Story from Wollen Buffet part 2

ผมเองยอมรับว่าเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญค่อนข้างจำกัด และไม่ค่อยจะมีความสามารถในการมองหรือคิดเกี่ยวกับเรื่องที่สลับซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ สินค้า หรือธุรกิจไฮเทค ในเรื่องที่เป็นนามธรรม ผมเองก็ค่อนข้างอ่อนในการที่จะคาดการณ์สภาวะในอนาคต ไล่ตั้งแต่เรื่องของวงจรความรุ่งเรื่องและตกต่ำของธุรกิจวัฏจักรทั้งหลายไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาผมดูวิเคราะห์หุ้นจำนวนมาก ข้อสรุปหรือคำตอบของผมจึงมักออกมาว่ามัน “Too Hard” จนตอนหลังๆ ผมแทบจะไม่อยากวิเคราะห์เลย ถ้าดูแล้วธุรกิจของบริษัทเป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถเข้าใจหรือคาดการณ์ได้

ถึงอย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผมไม่ได้เป็นผู้บริหารของกองทุนรวมที่ต้องหาหุ้นลงทุนอย่างน้อยหลายสิบตัว ส่วนตัวผมเองนั้นต้องการหุ้นเพียง 6-7 ตัวเท่านั้น ดังนั้นผมจึงยังสามารถที่จะหาหุ้นลงทุนที่ดีได้ แม้ว่าในหลายๆ ครั้งจะ “เสียโอกาส” ที่ไม่ได้เก็บหุ้นที่ถูกมากและได้ผลตอบแทนมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็วเพียงเพราะว่าผมไม่แน่ใจว่าผมรู้ดีพอ แต่ผมก็ปลอบใจตัวเองเสมอว่า “เสียดายดีกว่าเสียใจ”

สำหรับ Value Investor ที่ยังไม่เชี่ยวชาญมากนั้น ผมคิดว่าเขาจำเป็นที่จะต้องมี “ถาด 3 ใบ” อยู่บนโต๊ะหรืออย่างน้อยในสมองสำหรับหุ้นแต่ละตัวที่เขาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาลงทุน สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดก็คือ เขาจะต้องประเมินอย่างเป็นกลางและจริงใจต่อตนเองมากที่สุดว่าเขามีความรอบรู้แค่ไหน กิจการที่เขากำลังวิเคราะห์อยู่นั้น อยู่ใน “ขอบเขตแห่งความรอบรู้” ของเขาหรือไม่ อย่าคิดว่าเรารู้ ถ้าข้อเท็จจริงก็คือ เราไม่รู้ เพราะนั่นจะทำให้เราสรุปผิด นอกจากนั้น เราจะต้องตระหนักด้วยว่ามีสิ่งต่างๆ จำนวนมากในโลกนี้ที่เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้หรือมีคนที่สามารถคาดได้น้อยมาก ดังนั้น ถ้ามีข้อสงสัยว่าเรารู้หรือเราไม่รู้ ผมแนะนำว่า เราเอาหุ้นตัวนั้นไปใส่ไว้ในถาด “Too Hard” จะปลอดภัยกว่า

Value Investor หลายคน แทนที่จะวิเคราะห์และสรุปการประเมินเอง กลับใช้วิธีลอกการบ้านคนอื่นโดยเฉพาะที่คิดว่าเป็นคนเก่งเป็นเซียนและเคยมีผลงานประทับใจให้เห็นมาแล้ว แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนสำคัญก็คือ “ต้นฉบับ” นั้นมักจะซื้อหุ้นลงทุนไปก่อนแล้วในราคาที่ต่ำกว่าก่อนที่จะปล่อยต้นฉบับมาให้คนลอก ดังนั้น โอกาสที่คนลอกจะซื้อหุ้นดีในราคาที่สูงเกินไปก็มีอยู่ไม่น้อย ในอีกด้านหนึ่ง คนเก่งหรือเซียนเองก็มีโอกาสผิดพลาดได้ และเซียนนั้น เมื่อผิดพลาดแล้วก็จะรู้วิธีแก้และแก้ไขได้เร็วกว่า ในขณะที่คนตามนั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว การลอกการบ้านคนอื่นโดยไม่ได้คิดเองอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ

การมีถาด 3 ใบ ในใจนั้น ในทางปฏบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เหตุผลก็คือ นักลงทุนมักอ่อนไหว ไปตามราคาหุ้น ที่ขึ้นลงหวือหวาบนกระดาน เวลาวิเคราะห์หุ้นเรามักจะมองราคาหุ้นไปด้วย และเมื่อราคาหุ้นกับสิ่งที่เราวิเคราะห์สอดคล้องกัน “อย่างชัดเจน” เราก็อาจจะด่วนสรุปว่าเรารู้ เราวิเคราะห์ถูก ทั้งที่มันไม่ใช่และมันเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ดังนั้น เวลาวิเคราห์และลงความเห็นว่าหุ้นตัวนั้นควรจะอยู่บนถาดไหน ผมจะแนะนำว่า เราควรปิดจอดูหุ้นไว้ก่อน อย่าให้ราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกนาทีมาตัดสิน “การลงทุน 5 ปี” ของเรา

ผมหวังว่าเรื่องถาด 3 ใบ นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่แวะเข้ามาเยี่ยมชม ขอบคุณครับผมแล้วพบกันใหม่กับ
MySimpleDiary

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น